อียิปต์ ในยุคสมัยโบราณเมื่อมีคนตายก็จะนำศพไปฝังไว้ในทะเลทรายอันร้อนระอุ ความร้อนและความแห้งแล้งทำให้ร่างกายแห้งอย่างรวดเร็ว โดยที่แบคทีเรียไม่มีโอกาสได้ย่อยสลายศพเสียก่อน จึงกลายเป็นมัมมี่ไปตามธรรมชาติ คงจะมีการค้นพบโดยบังเอิญ ดังเช่นในภาพเป็นศพชาวอียิปต์โบราณที่ถูกฝังตามธรรมดาโดยมิได้มีการตบแต่งทำให้ไม่มีการย่อยสลายแต่อย่างไร แต่ศพที่กลายเป็นมัมมี่ไปตามธรรมชาติก็อยู่รอดมาให้ค้นพบได้ในสมัยปัจจุบัน โดยต่อมาชาวอียิปต์ก็เริ่มใช้โลงบรรจุศพก่อนฝังเพื่อป้องกันมิให้สัตว์ป่าแทะกินศพ แต่ก็กลับพบว่าซากศพที่ฝังในโลงได้เปื่อยเน่าไป ไม่แห้งและอยู่คงทนเหมือนแต่ก่อน เพราะโลงศพทำหน้าที่เก็บกักความชื้นจากร่างกาย เพียงพอที่จะอำนวยให้แบคทีเรียเจริญเติบโต และทำการย่อยสลายให้ศพเน่าเปื่อยสูญไปได้
ต่อมาหลายร้อยปี ชาวอียิปต์ก็ได้ศึกษาทดลองวิธีต่างๆเพื่อจะรักษาสภาพศพให้คงทนอยู่ได้ กรรมวิธีในการรักษาศพให้คงทน ประกอบด้วยการแช่อาบศพด้วยสิ่งที่ชะงักการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย แล้วพันด้วยแถบผ้าลินิน ปัจจุบันเราเรียกกรรมวิธีนี้ว่า การทำมัมมี่ วิธีนี้เริ่มสมัยราชวงศ์ที่สี่ ซึ่งนักโบราณคดีขุดพบเป็นจำนวนมากที่เมืองไมดูม บางทีมัมมี่ที่ขุดพบจะมีเฉพาะส่วนของร่างกายที่ห่อหุ้มไว้เท่านั้นส่วนเครื่องในที่แยกเก็บไว้จะหายไป ทั้งนี้นักโบราณคดีเชื่อว่า บางทีศพของขุนนางชั้นสูงหรือผู้ร่ำรวย การเก็บห่อเครื่องในนิยมเก็บในภาชนะที่มีค่าต่าง ๆเช่นหม้อไหทองคำล้วน เมื่อนักขโมยสมบัติพบเข้าก็นำเอาไปทั้งภาชนะที่ใส่ เพราะไม่ต้องการเสียเวลากับการเอาออกแนวความคิดดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นจริง
จากการที่พบมัมมี่ของราชินีเฮตเฟรส พระราชมารดาของฟาโรห์คูฟู ในสุสานโบราณที่เมืองกีซ่า เครื่องในของมัมมี่ถูกแยกเก็บไว้ในกล่องห่อด้วยผ้าลินินที่แช่น้ำยานาทรอน เพื่อป้องกันการเน่าเปื่อย การเก็บเครื่องในมัมมี่ลักษณะเดียวกันนี้ เริ่มใช้กับประชาชนสมัยราชวงศ์ที่ห้าและราชวงศ์ที่หก ซึ่งจะเก็บไว้ในหม้อ-ไหหินที่มีไม้ประกบอยู่ภายนอกและสุสานที่เก็บเครื่องใน ในหม้อหรือไหหินจะไม่มีช่องบริเวณผนังสุสานเจาะไว้สำหรับเก็บห่อเครื่องใน ดังในสมัยราชวงศ์ก่อน บางครั้งหม้อดินหรือไหหินใส่เครื่องในจะถูกเก็บไว้ในสถูปเล็กๆภายในสุสานเดียวกัน บางทีทำเป็นช่องตรงพื้นสุสาน ที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าจะเป็นสถูปหรือช่องบนพื้นสุสาน จุดที่ตั้งนั้นจะอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้เสมอ ซึ่งนักโบราณคดียังหาคำตอบในเรื่องนี้ไม่ได้